103 จำนวนผู้เข้าชม |
คุณเค เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีบ้าน มีรถ และถือได้ว่าฐานะค่อนข้างที่จะดีเลยทีเดียว คุณเค มีลูกชายคนหนึ่ง ตอนเรียนมหาวิทยาลัย คุณเคได้ซื้อรถยนต์ให้ลูกชายไว้ใช้สำหรับเดินทางไปมา ระหว่างไปเรียนมหาวิทยาลัยกับบ้าน โดยคุณเค ได้มีรถส่วนตัวของเขาอีกคันหนึ่ง จนวันหนึ่งลูกชายได้เรียนจบและได้งานทำที่เมืองนอก และเขาก็ตกลงไปทำงานที่เมืองนอก เลยเอารถยนต์ไปคืนให้คุณเค เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยมาประมาณ 2-3 เดือน รถก็ไม่ได้ใช้งานอะไร วันหนึ่งเพื่อนของ คุณเคได้มาเยี่ยมคุณเคที่บ้านและได้เห็นรถยนต์ของคุณคที่จอดทิ้งไว้เฉยๆ จึงรู้สึกถูกใจรถคันนี้เป็นอย่างมาก ว่าจะขอซื้อต่อให้กับลูกชายที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยพอดีไว้ใช้ จึงตกลงกับคุณเค ว่าจะขอซื้อรถยนต์คันนี้ในราคา 400,000 บาท โดยที่จะจ่ายเงินในวันที่จะรับรถจริง เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท และขอผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 50,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ดังนั้นคุณเค เลยตกลงขายรถยนต์คันนั้นให้กับเพื่อนคนนี้ โดยวันรับรถได้ทำสัญญาตามที่กล่าวมา และรับเงินก้อนแรกเป็นจำนวน 100,000 บาท ตามที่ได้ตกลง แต่ต่อมาอีก 3-4 เดือน เขาไม่ได้รับงานค่าผ่อนชำระรถยนต์อีกเลยจากเพื่อนคนนี้ แล้วแบบนี้จะเข้าข่ายไหน จะพอมีทางออกอย่างไร เรามาหาคำตอบกันครับ ว่าคุณเคควรทำอย่างไร
หลายคนคงเข้าใจว่า สัญญาที่ได้ทำขึ้นนั้น เป็นสัญญาเช่าซื้อ แต่ความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ มันเป็นแค่ “สัญญาซื้อขาย” กันตามธรรมดา แต่ในทางกฎหมายนั้นได้มาตรา 456 วรรคสาม ระบุไว้ว่า “การซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้นที่ราคาตั้งแต่ 20,000 บาท ขึ้นไป สามารถฟ้องร้องได้ ถ้ามี
1. หลักฐานเป็นหนังสือ
2. ได้วางมัดจำ
3. มีการชำระหนี้แล้วในบางส่วน โดยมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีความได้ตามกฎหมาย”
ฉะนั้นกรณีคุณเค สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีให้เพื่อนคุณเคคนนั้น ชำระหนี้สินทั้งหมดนั้นตามกฎหมายได้ทั้งหมดทั้งสิ้น หรือ อาจจะดำเนินคดีให้เพื่อนคุณเคนำรถยนต์คันที่ได้ซื้อไปนั้นมาคืนคุณเค ตามแต่ที่ตกลงกันในภายหลัง
เขียนและเรียบเรียงโดย ทนายเอกพรรดิ์ สายันตนะ