106 จำนวนผู้เข้าชม |
ถ้าเป็นสินส่วนตัวนั้น ตามกฎหมายได้ระบุว่าเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเขาได้มีมาแต่ก่อนจะทำการสมรส อาทิเช่น บ้าน รถ ที่ดิน เงินทอง หรือของมีค่าต่างๆ ฯลฯ ถ้าทรัพย์สินเหล่านี้มีการโอนหรือถือครองชัดเจน จึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเขา
ประการต่อมา แม้ทรัพย์สินนั้นได้มาระหว่างสมรส แต่เป็นทรัพย์มรดก หรือ มีบุคคลใดให้โดยเสน่ห์หานั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้ไม้สอย เครื่องมือต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพ จะถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้นั้นเช่นกัน เหมือนกันกับทรัพย์สินที่เป็นของมั่นหมายต่างๆที่ฝ่ายชายมอบแก่ฝ่ายหญิง ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นจึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของทางฝ่ายหญิงไป
ส่วนสินสมรสนั้นในทางกฎหมายนั้นได้ระบุไว้ว่า ทรัพย์สินส่วนใดที่ได้รับมาระหว่างสมรส หรือ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยพินัยกรรม หรือ ให้เป็นหนังสือ โดยพินัยกรรม หรือ หนังสือยกให้ได้ระบุว่า เป็นสินสมรส หรือ เป็นดอกผลของสินส่วนตัว อันนี้ก็ถือว่าเป็นสินสมรส ในกรณีที่สงสัยว่า สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือไม่ กฎหมายได้บอกว่า หรือ สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสไว้ก่อนตามหลักเกณฑ์
ลองมาดูตัวอย่างกัน เช่น บ้านได้ทำการเช่าซื้อมา ผ่อนชำระตามปกติ แล้วได้สมรสกับฝ่ายหญิงในภายหลัง และฝ่ายชายก็ได้ผ่อนชำระตามปกติตามเดิม ตามกฎหมายแล้ว เมื่อทำการผ่อนชำระหมดเรียบร้อยแล้ว กฎหมายก็ถือว่า ทรัพย์สินนี้เป็นสินสมรส หรือ ซื้อมาระหว่างจดทะเบียนสมรสแล้วก็ถือว่าเป็นสินสมรส แม้ว่าทรัพย์สินนั้นจะจดทะเบียนซื้อในบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ตาม เมื่อผ่อนชำระ หรือ ซื้อสดก็ได้ทรัพย์สินนั้นก็ถือได้ว่าเป็นสินสมรสของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เมื่อมีเหตุให้ต้องเลิกรา หรือ หย่าร้างกันในที่สุด สำหรับทรัพย์ในส่วนของสินสมรสนี้ต้องนำมาแบ่งเท่าๆกัน ถ้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์แบบปกติเท่าไป
สินสมรสไม่จำต้องเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองเป็นฝ่ายร่วมกันทำมาหาได้ หากแต่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาก็ย่อมมีผลให้เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
มีแนว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2556
· จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้ว่าข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินในลักษณะเจ้าของรวม แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอุทธรณ์อ้างว่าต้องนำบทกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนมาใช้บังคับก็เป็นข้อที่คู่ความหยิบยกเอาข้อกฎหมายมาปรับใช้แก่ข้อเท็จจริงในคดีอันเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลโดยเฉพาะ และหากศาลเห็นว่าข้อกฎหมายที่คู่ความอ้างมาไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะปรับบทกฎหมายไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนเองได้ อุทธรณ์ในปัญหานี้จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวแล้วในศาลชั้นต้น
แม้ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์จะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นก็ต้องถือว่าในส่วนที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพราะสินสมรสไม่จำต้องเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองเป็นฝ่ายร่วมกันทำมาหาได้ หากแต่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาก็ย่อมมีผลให้เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) โดยไม่จำต้องมีข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมก่อนจึงจะเป็นสินสมรส
การที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินซึ่งส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมตามปกติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 หากแต่มีลักษณะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และเป็นการจัดการสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (6) วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการทำนิติกรรมดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 เพราะการจำหน่ายตัวทรัพย์สินจะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 จึงกระทำการโดยไม่สุจริตและไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2 โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะทรัพย์ส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้
สำหรับบุคคลที่เกิดมีทรัพย์สินมากมาย ก่อนสมรสนั้นเพื่อความสบายใจ หรือ ไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งในภายหลัง เขาก็จะทำหนังสือทรัพย์สมรสที่เรียกว่า “หนังสือก่อนจดทะเบียนสมรส” เพื่อทำการบันทึกทรัพย์สินต่างๆที่มีอยู่กันก่อนสมรสนั้น เพื่อตัดปัญหาหลายๆอย่างที่อาจเกิดขึ้นมาภายหลังได้
เขียนและเรียบเรียงโดย ทนายเอกพรรดิ์ สายันตนะ