131 จำนวนผู้เข้าชม |
ตามกฎหมายแล้ว ไม่ได้มีข้อกำหนด หรือข้อบังคับใดๆ ในการห้ามบันทึกภาพ หรือ วีดีโอกับทางเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ จึงสามารถพูดได้ว่า ไม่มีกฎหมาย หรือข้อบังคับในข้อนี้
สมมุติว่าเราขับรถไปต่างจังหวัด เจอด่านตรวจเข้ากลางทาง เราก็ให้ตรวจค้นแต่โดยดีแล้ว เราเองก็ได้บันทึกวีดีโอ ถ่ายแบบเดินตามไปมา ตำรวจบอกว่าถ่ายไม่ได้ๆ เอามือมาบังกล้องแล้วพยายามจะยึดโทรศัพท์ที่ถ่ายนั้น เราไม่ยอมก็ได้นะครับ เพราะว่า เราให้ความร่วมมือในการตรวจค้นแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่า ตำรวจบางคน บางท่านนั้น จะนำสิ่งของผิดกฎหมายมายัดใส่เราบ้างรึเปล่า เราไม่อาจจะรู้ได้ จึงบันทึกภาพ หรือ วีดีโอไว้ก่อนจะดีกว่าครับ
หรือบางกรณีที่มีการโต้เถียง กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ว่าเราทำผิดกฎ เราขับรถผิด หรือ ไม่ผิดอะไรอย่างไร ภาพวีดีโอนั้น สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้ เพื่อความเป็นกลาง และเป็นธรรม เราจึงมีสิทธิในการบันทึกภาพต่างๆ เพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่ได้นั้นเอง
แต่ก็มีบางสถานที่ ที่มีข้อยกเว้น หรือมีข้อกำหนดไว้ว่าไม่สามารถทำการบันทึกภาพใดๆได้ เช่น ศาลยุติธรรม , ศาลปกครอง , ศาลทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น คือ กฎหมายของบ้านเราได้ห้ามทำการบันทึกภาพ หรือสื่อต่างๆ ในเขตของรั้วศาล ก่อนได้รับอนุญาตเท่านั้น แม้แต่สถานีตำรวจ โรงพัก เราก็ยังสามารถถ่ายได้ เพราะ ไม่มีข้อกำหนดใดๆ ยกเว้นในศาลเท่านั้น
แต่บางคนจึงอ้างว่า ถ้าอย่างนั้นในห้องน้ำก็สามารถถ่ายได้สิ กฎหมายไม่มีข้อห้ามนิ ใช่ครับ ทำได้ แต่ต้องถ่ายตนเองเท่านั้น หรือผู้ที่อนุญาตตนแล้วเท่านั้น ห้ามถ่ายผู้อื่น หรือผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตยินยอมให้ถ่ายได้ แล้วถ้าเกิด ได้มีการนำเข้าสิ่งลามกอนาจารลงไปอีก โทษยิ่งหนักเลยนะครับ
ตามกฎหมายแล้ว เราสามารถถ่ายได้ตามสิทธิพลเรือน แต่การที่จะนำสื่อนั้นไปเผยแพร่ ถ้าหากเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานใดๆ หรือ เป็นเหตุให้บุคคลที่ถูกเผยแพร่ ได้เกิดความเสียหาย เสื่อมเสีย หรือ เป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่ออันตรายใดๆ เราอาจถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีได้ ตามข้อหาที่เกี่ยวข้อง แต่ปัจจุบันการเผยแพร่สิ่งที่เป็นเท็จ ต้องระวัง พรบ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act: PDPA)ระวางโทษจำคุก นะครับผม ต้องดูให้ดีครับ
เขียนและเรียบเรียงโดย ทนายเอกพรรดิ์ สายันตนะ