78 จำนวนผู้เข้าชม |
กรณีนี้เป็นกรณีที่คนส่วนมากมักชอบการสังสรรค์กันนิด ๆ หน่อย ๆ ตามประสาคนชอบเข้าสังคม รวมทั้งทนายเอกเองก็ชอบดื่ม แต่ระหว่างทางที่กลับบ้านนั้นมักจะมีการตั้งด่านเพื่อตรวจวัดระดับแอลกอฮอร์ เมื่อวัดแล้วเกินค่าที่กฎหมายกำหนดก็จะต้องรับโทษ ดังนี้ โทษของกฎหมายจราจรการเมาแล้วขับนั้นจริง ๆ มีว่าอย่างไร ทำไมถึงมีความผิด วิธีการเอาตัวรอด หรือ ทางด้านกฎหมายว่ากันอย่างไรมาดูกันครับ
ตามกฎหมายได้เขียนไว้ว่า ถ้ามีระดับแอลกอฮอร์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัม ถือว่ามีความผิดฐานเมาสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ ผิดกฎหมายพรบ.จราจรทางบก มาตรา 160 ตรี มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5 พันถึง 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใบอนุญาตขับขี่ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาต โดยอาจมีการบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะด้วย อันนี้หมายถึงในกรณีเฉพาะข้อหาเมาแล้วขับอย่างเดียวนะครับ
แต่ถ้าการเมาแล้วขับนั้น ยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ก็จะมีโทษทางกฎหมายเพิ่มมาอีก กล่าวคือตามลำดับผลที่เกิดขึ้น
ถ้า 1) ชนธรรมดาเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บเล็กน้อย ตามกฎหมาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับ 2 หมื่น ถึง 1 แสนบาท นี่คือกรณีที่ผู้อื่นนั้นได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
2) บาดเจ็บสาหัส เช่น แขนขาหัก เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลติดต่อกันเกินกว่า 20 วัน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี ปรับตั้งแต่ 4 หมื่น ถึง 120,000 บาท โทษจำคุกขั้นต่ำคือ 2 ปี ศาลไม่สามารถลงโทษน้อยกว่านี้ได้
3) และโทษขั้นสุดท้ายในกรณีที่มีผู้เสียชีวิต รับโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 6 หมื่น ถึง 2 แสนบาท
โดยทั้งสามกรณีนั้น ผู้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุยังต้องทำการชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดอีกด้วย ได้แก่ ค่าทรัพย์สินเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล ค่าทุกขเวทนา ค่าทำศพ ต่าง ๆ ในการทำพิธีศพ ค่าชดเชยขาดรายได้ หรือ กรณีที่คู่กรณีนั้นเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ยังต้องชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตร หรือ สามี-ภรรยา ญาติพี่น้อง บิดามารดา ของผู้เสียชีวิตอีกด้วย เป็นจำนวนใด ๆ นั้นตามที่เสียหายจริง และตามที่ศาลเห็นสมควร คงเห็นแล้วว่าการดื่มแล้วขับไม่คุ้มกันเลย
ส่วนวิธีรอดจากการเป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอร์นั้น ตามจริงผมไม่อยากแนะนำเท่าไร แต่มันคือสิทธิตามกฎหมายของเรา คือ “เราสามารถที่จะปฏิเสธได้” แต่เราจะถูกกักขังไว้ตรงด่านนั้น ตามกฎหมาย พรบ.จราจรทางบก มาตรา 142 วรรค 3 ถ้าคุณไม่เป่าเจ้าหน้าที่มีสิทธิกักตัวคุณไว้จนกว่าจะยอมเป่า แต่ถ้าคุณไม่เป่า มีโทษปรับ 1,000 บาท นี่คือ ช่องทางที่หลายคนใช้ แล้วทำอะไรไม่ได้ด้วยเพราะรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของคุณไว้ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำเข็มหรือของมีคมมาทำการเจาะและดูดเลือดของคุณได้ หรือ บังคับเอาเครื่องตรวจวัดมายัดปากของคุณให้เป่าไม่ได้ คุณสามารถแจ้งความกลับฐานข่มเหงและทำร้ายร่างกายได้ เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วตำรวจไม่สามารถบังคับประชาชนให้เป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอร์ได้ ถ้าประชาชนรู้กฎหมายกันครับ
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2557 ได้มีการแก้ไขพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่10) พ.ศ. 2557 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 ซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 เกี่ยวกับการกำหนดข้อสันนิษฐานในกรณีผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบโดยไม่มีเหตุอันควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นขับขี่รถในขณะเมาสุรา อันเป็นการสันนิษฐานว่ากระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายอยู่ดีนั่นเอง ฉะนั้น แม้ผู้ขับขี่จะมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมทดสอบระดับแอลกอฮอร์ได้ก็ตาม กฎหมายใหม่ก็ยังบัญญัติให้มีความผิดต่อกฎหมายอยู่ดีนะครับ
ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้ว พระราชบัญญัติ จาราจรทางบก ( ฉบับที่ 13 ) พ.ศ. 2565 ได้เพิ่มเติมแก้ไขและโทษ ดังนี้
เคยถูกฟ้องคดีเมาแล้วขับ ถ้าทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000 บาท ตามมาตรา 160 ตรี/1 จากที่ฟ้องเป็นคดีศาลแขวง เปลี่ยนเป็นฟ้องคดีศาลจังหวัด
กรณีเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง
1. ม.160 วรรคสอง ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายหรือได้รับอันตราย
สาหัส ตาม ปอ.ม.291 หรือ ม.300 และไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ ตาม ม.78
2. ม.160 ทวิ/1 ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายหรือได้รับอันตรายสาหัส
ตาม ปอ.ม.291 หรือ ม.300 และขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ หรือขับรถในระหว่างถูกพักใช้
ใบอนุญาตขับขี่ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ หรือถูกยึดใบอนุญาตขับขี่
3. ม. 160 ตรี/2 วรรคสอง เมาแล้วขับเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายแก่กาย สาหัส หรือถึงแก่ความ
ตายตาม ม.160 ตรี วรรคสองถึงวรรคสี่ และขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ หรือขับรถในระหว่างถูกพักใช้
ใบอนุญาตขับขี่ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ หรือถูกยึดใบอนุญาตขับขี่
กรณีเพิ่มโทษอีกหนึ่งในสาม
1. ม.160 ตรี วรรคห้า เมาแล้วขับรถยนต์สาธารณะ หรือรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถขนส่ง
ผู้โดยสาร
2. ม. 160 ตรี/2 วรรคหนึ่ง ฟ้องเมาแล้วขับตาม ม.160 ตรี วรรคหนึ่ง และขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่
หรือถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ศาลสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต
1. ม.160 ทวิ วรรคหนึ่ง ฟ้องแข่งรถในทางตาม ม. 134 วรรคหนึ่ง
2. ม.160 ตรี/1 เมาแล้วขับตาม ม.160 ตรี วรรคหนึ่ง และทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิด
ครั้ง
*ม. 160 ตรี/3 ฟ้องเมาแล้วขับตาม ม.160 ตรี ซึ่งทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำครั้งแรก ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ
*ม. 160 เบญจ ฟ้องข้อหาแข่งรถในทางตาม ม. 134 วรรคหนึ่ง หรือพยายามแข่งรถในทาง ตาม ม. 134
วรรคสอง ให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาอาจมีคำร้องให้ศาลพิจารณาวางข้อกำหนดถ้าผู้ต้องหา
อายุต่ำกว่า 20 ปี ตาม ม. 160 เบญจ (1) หรือมีคำร้องให้ศาลพิจารณาทำทัณฑ์บนถ้าผู้ต้องหามีอายุตั้งแต่
สิบแปดปีขึ้นไป ตาม ม. 160 เบญจ (2)
สรุปทางที่ดีทนายเอก แนะนำว่า เมาไม่ขับ หากจะเมาก็ใช้บริการรถสาธารณะดีกว่านะครับ ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งตัวคุณและคนอื่นๆ ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ “อย่าเอาความสุขของเราไปทำให้คนอื่นเสี่ยงจะดีกว่า” ด้วยความปรารถนาดีจากทนายเอก ครับ.
เขียนและเรียบเรียงโดย ทนายเอกพรรดิ์ สายันตนะ