โอนลอยรถ ง่าย สะดวก และ ประหยัดค่าธรรมเนียม แต่ได้ไม่คุ้มเสีย

114 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โอนลอยรถ ง่าย สะดวก และ ประหยัดค่าธรรมเนียม แต่ได้ไม่คุ้มเสีย

กรณีที่จะมาพูดคุยกันวันนี้ เป็นกรณีการทำเอกสารสิทธิ การโอนลอยซื้อขายรถ ครับ ว่า มีข้อดี หรือ มีข้อเสียอย่างไร ควรทำไหม หรืออย่างไร กฎหมายห้ามไหม กฎหมายมีบทบัญญัติว่ากันอย่างไรกัน

         ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่า การโอนรถแบบปกติที่เขาทำๆกัน คือ เมื่อฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายรถ ตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว ก็จะดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รถจากผู้ขาย เป็นชื่อผู้ซื้อ ณ ที่ทำการสำนักงานขนส่งตามทะเบียนรถ พร้อมกับส่งมอบรถให้ผู้ซื้อครับ

         แต่ก็มีอีกวิธีที่มักจะนิยมทำกัน คือการโอนที่เรียกว่า “ โอนลอย ”        การโอนลอย คือการที่ ผู้ขายส่งมอบรถให้แก่ฝ่ายผู้ซื้อ แต่ไม่ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รถตามวิธีการตามปกติ แต่ผู้ขายจะทำการมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเอง โดยทำเป็นหนังสือมอบอำนาจ และแบบคำขอโอนและรับโอน เว้นช่องว่างชื่อผู้รับโอนไว้ ซึ่งผู้ซื้อก็จะกรอกเป็นชื่อใครก็ได้ อาจจะเป็นชื่อผู้ซื้อเอง หรือผู้ซื้อทอดต่อๆมาจากเขาก็ได้ แล้วแต่ว่ารถนั้นจะโอนต่อให้แก่ผู้ใด

ซึ่งข้อดีของการโอนลอยนั้นก็มีอยู่เพียงว่า ง่าย สะดวก และ ประหยัดค่าธรรมเนียมในการโอนหรือจดทะเบียนเท่านั้นครับ

แต่เมื่อเทียบกับข้อเสียแล้ว ซึ่งอยากให้ลองเทียบกันเองตามนี้ครับ สมมุติว่า เราได้นำรถคันเก่าไปขายให้กับทางเต็นท์รับซื้อขายรถมือสอง เรารับเงินเรียบร้อย แล้วก็มีลูกค้ามาติดต่อซื้อ เราทำการโอนลอยไว้ให้กับทางเต็นท์ เพราะง่ายดี ไม่ต้องไปที่ขนส่งเอง เงินก็ได้รับครบแล้ว แต่ต่อมาเพราะเหตุอันใดไม่ทราบ ทางเต็นท์ยังไม่ไปทำการโอนจาก ชื่อเราให้เป็น ชื่อลูกค้าใหม่คนนั้น แล้วปรากฏว่าระหว่างนั้น เขาเอารถคันนี้ไปชนแล้วหนี ก็เกิดการฟ้องร้องขึ้น แล้วแบบนี้ใครกันต้องรับผิดชอบ ซึ่งเมื่อตรวจสอบทางทะเบียนรถว่ามีชื่อใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์  ก็เราเองสิครับ ทั้งๆที่เราไม่ได้ครอบครองรถแล้ว แต่ เพราะยังเป็นผู้มีชื่อถือครองทางทะเบียน นั่นเอง เขาก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเราเป็นผู้ขับรถขณะเกิดเหตุดังกล่าว ก็เดือดร้อนเราต้องไปแก้ตัวกันในศาลอีกทีครับ

         กรณีใกล้เคียงกัน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยด้วย หากรถดังกล่าว ถูกนำไปใช้ในการขนยาเสพติดให้โทษ เมื่อโดนจับ ทาง สำนักงาน ปปส. (กองป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด) นั้นจะต้องตรวจสอบประวัติเจ้าของรถ แล้วก็จะส่งหมายเรียก ก็จะส่งให้ใครละครับ ก็เราอีกแล้ว ชื่อขึ้นทางทะเบียนอยู่คนเดียว ในข้อหา ร่วมกัน หรือ สมรู้ร่วมคิดในการค้ายาเสพติดให้โทษ แม้จะสอบสวนได้ภายหลังว่า เรานั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่ก็ต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าร่วมกันกระทำความผิดนั้น ซึ่งทำให้เสียชื่อเสียง เสียเวลา ต้องให้ปากคำ ให้การสอบสวน อะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ใช้เวลาอีกยาวนาน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเรานั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ครับ

         ดังนี้คงได้ข้อสรุปด้วยตัวท่านเองแล้วนะครับว่า ถ้ามีการซื้อ-ขายรถกันไปแล้ว ไม่ว่าจะรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ก็ตาม ลุงหนวดแนะนำอย่างยิ่งว่า ท่านควรดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ทันทีนะครับ เตือนเลยครับว่า ห้ามทำการโอนลอยโดยเด็ดขาด ย้ำนะครับ ห้ามทำการโอนลอยโดยเด็ดขาด แม้ไม่มีกฎหมายห้ามก็ตาม เพราะ ถ้าเขานำรถคันดังกล่าวไปก่อคดีความต่างๆ โดยยังมีชื่อเราทางทะเบียน เราอาจต้องเสี่ยงตกเป็นผู้ต้องหา โดยไม่รู้ตัวก็นะครับ เชื่อทนายเอกครับ.

เขียนและเรียบเรียงโดย ทนายเอกพรรดิ์ สายันตนะ 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้